วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

สำนวน สุภาษิตไทย




สุภาษิต หมายถึง คำกล่าวที่มีคติควรฟัง มีจุดมุ่งหมายเพื่อการสั่งสอน เตือนสติให้ได้คิด แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ


  1. เมื่ออ่าน หรือ ฟังแล้วสามารถเข้าใจเนื้อความได้ทันที โดยไม่ต้องแปลความหมาย ตีความหมายเช่น ไก่งามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง
  1. เมื่ออ่าน หรือ ฟังแล้ว ไม่สามารถเข้าใจเนื้อความนั้นในทันที ต้องนึกตรึกตรอง ต้องแปลความ ตีความหมายเสียก่อนจึงจะทราบเนื้อแท้ของคำเหล่านั้น เช่น ผีบ้านไม่ดีผีป่าก็พลอย
สำนวน หมายถึง โวหาร ทำนองพูด ถ้อยคำที่เรียบเรียง ถ้อยคำที่ไม่ถูกไวยากรณ์แต่รับใช้เป็นภาษาที่ถูกต้อง การแสดงถ้อยคำออกมาเป็นข้อความพิเศษเฉพาะภาษาหนึ่ง ๆ 

สํานวนไทย จะมีความหมายโดยนัย เป็นลักษณะความหมายเชิงอุปมาเปรียบเทียบ จะไม่แปลความหมายตรงตามตัวอักษร จึงฟังแล้วมักจะ ไม่ได้ความหมายของตัวมันเอง ต้องนำไปประกอบกับบุคคล กับเรื่อง หรือเหตุการณ์จึงจะได้ความหมายเป็น คติ เตือนใจเช่นเดียวกับคำที่เป็นสุภาษิต 

คำพังเพย หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นมา แฝงคติเตือนใจหรือ ข้อคิดสะกิดใจให้นำไปปฏิบัติได้ เป็นความหมายกลาง ๆ คือ ไม่เน้นการสั่งสอน และ เนื้อหาของใจความนั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความดี หรือ ความจริงแท้ แน่นอน

ความแตกต่างของ สุภาษิต สำนวน และคำพังเพย 
สุภาษิต จะไม่มีการเสียดสีหรือติชมอย่างคำพังเพย เป็นถ้อยคำที่แสดงหลักความจริง เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่ว ๆ ไป ภาษิตนี้ยังมีความหมายรวมไปถึง สัจธรรม คำสั่งสอนที่เป็นความจริงอันเที่ยงแท้ทางศาสนาด้วย เช่น ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นต้น






สำนวนสุภาษิตไทยแต่ละหมวดหมู่  มีดังนี้


   สํานวน สุภาษิตไทย หมวด ก.ไก่


กระต่ายตื่นตูม


  • กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา  ความหมาย คนที่เนรคุณคนเปรียบได้กับคนที่อาศัยพักพิงบ้านเขาอยู่แล้วคิดทำมิดีมิชอบให้เกิดขึ้นภายในบ้านนั้น ทำให้เจ้าของบ้านที่ให้อาศัยต้องเดือดร้อน
  • กินปูนร้อนท้อง  ความหมาย คนที่ทำพิรุธหรือทำอะไรไว้ไม่อยากให้ใครรู้แต่เผอิญมีใครไปแคะได้ หรือเรียบเคียงเข้าหน่อยทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เจตนาเจาะจงแต่ตัวเอง ก็แสดงอาการเป็นเชิงเดือดร้อนออกมาให้เขารู้
  • ไก่แก่แม่ปลาช่อน    ความหมาย   หญิงค่อนข้างมีอายุที่มีมารยาและเล่ห์เหลี่ยมมาก และมีกิริยาจัดจ้าน
  • กิ่งทองใบหยก    ความหมาย    หญิงและชายที่มีฐานะเสมอกัน ทั้งหน้าตาและรูปร่างสวยงามพอกัน มีอะไรที่เหมาะสมกัน จึงเป็นคู่ครองที่เหมาะสมกันมาก
  • กินอยู่กับปากอยากอยู่กับท้อง ความหมาย  รู้ดีอยู่แก่ใจ เพราะทำเองแล้วแสร้งไม่รู้ไม่เห็น
  • กำขี้ ดีกว่า กำตด  ความหมาย  ได้ในสิ่งที่เห็นหรือเป็นของได้แน่ ดีกว่าคิดอยากได้ในสิ่งหรือของที่ไม่เห็นเหมือนไม่มีตัวตน 
            ฯลฯ
   
   

   สํานวน สุภาษิตไทย หมวด ข.ไข่

เขียนเสือให้วัวกลัว

  • เขียนเสือให้วัวกลัว ความหมาย การที่ทำอะไรอย่างหนึ่งเพื่อให้เป็นการข่มขู่อีกฝ่ายหนึ่งไว้ก่อนให้กลัว 
  • ขมิ้นกับปูน ความหมาย คนที่ไม่ลงลอยกัน หรือ รสนิยมเข้ากันไม่ได้ เมื่ออยู่ใกล้กัน ก็มักเป็นปากเสียงทะเลาะวิวาทกัน เปรียบดังขมิ้นกับปูน
  • ขี้ก้อนใหญ่ให้เด็กเห็น ความหมาย การทำอะไร ที่เป็นเรื่องไม่ดี เป็นเรื่องชั่วร้ายเลวทราม หรือการทุจริต โดยไม่มีความละอายใจ ให้ผู้อื่นเห็น โดยเฉพาะ หมายถึง ผู้ใหญ่ที่ทำให้ผู้น้อย เห็นอย่างชัดแจ้ง
  • ขนมพอผสมกับน้ำยา ความหมาย ทั้งสองฝ่ายต่างพอดีกัน จะว่าข้างไหนดีก็ไม่ได้
  • ขี่ช้างอย่าวางขอ ความหมาย การที่มีลูกน้อง หรือมีผู้น้อยอยู่ในความปกครอง บังคับบัญชาของเรา ก็อย่าประมาทละเลยเสีย ต้องหมั่นกวดขันกำชับ เปรียบได้กับคนขี่ช้างต้องคอยถือขอสับช้างบังคับช้างไว้อยู่ตลอดเวลา ถ้าวางขอหรือไม่ใช้ขอคอยสับไว้ ช้างก็อาจพาลเกเรไม่ทำงานได้
  • เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า ความหมาย คนที่แต่แรกทำความดีจนเป็นที่เชื่อถือไว้แล้ว แต่ภายหลัง กลับทำความชั่วลบล้างความดีของตนเสียง่าย ๆ
ฯลฯ
   
   

  สํานวน สุภาษิตไทย หมวด ค.ควาย

โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ

  • คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ความหมาย คนที่จะรักเราจริง ๆ มีน้อยแต่คนเกลียดหรือคนชังเรามีเป็นส่วนมากกว่า
  • คนเดียวหัวหาย สองคนเพื่อนตาย ความหมาย เมื่อเวลาไปไหนคนเดียวไม่ปลอดภัยนัก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้าไปด้วยกันสองคน ก็อาจจะช่วย ขจัดเหตุร้าย หรือเป็นเพื่อนอุ่นใจ ได้ดีกว่า ไปคนเดียว
  • ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก ความหมาย มีเรื่องราว เดือดร้อนเกิดขึ้น ยังไม่ทันจะแก้ไข หรือจัดการให้สงบดี ก็เกิดมีเรื่องใหม่ซ้อนขึ้นมาอีกครั้ง
  • คนตายขายคนเป็น ความหมาย คนที่ตายไปแล้ว มีหนี้สินติดตัวอยู่มาก ทำให้คนที่อยู่ ซึ่งเกี่ยวข้อง หรือเป็นญาติพี่น้องต้องรับผิดชอบใช้หนี้ และมิหนำซ้ำ ต้องเป็นภาระในการจัดทำศพอีกด้วย
  • โค่นกล้วยอย่าไว้หน่อ ความหมาย คิดกำจัดศัตรู ก็ต้องปราบให้เรียบ อย่าให้พรรคพวกของมันเหลือไว้เลย แม้แต่คนเดียว มิฉะนั้นพวกที่เหลือนี้จะกลับฟื้นฟูกำลังขึ้นมา เป็นศัตรูกับเราภายหน้าได้อีก คือต้อง ขุดราก ถอนโคน
  • ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด ความหมาย เป็นคนมีความรู้สารพัด เกือบทุกอย่าง แต่ถึงคราวเกิดเรื่องขึ้นกับตัวเอง กลับจนปัญญาแก้ไข 
ฯลฯ
   

   สํานวน สุภาษิตไทย หมวด ง.งู

งมเข็มในมหาสมุทร

  • งอมพระราม ความหมาย มีความทุกข์ยากลําบากเต็มที่ เหมือนพระรามต้องถูกขับไล่ไปอยู่ป่า
  • งูเงี้ยวเขี้ยวขอ ความหมาย สัตว์ร้ายนานาชนิดสำนวนนี้บ่งบอกถึงอันตรายตรงๆของสัตว์มีพิษพวกนี้เพราะชีวิตของคนสมัยก่อนต้องทำไร่ทำสวน ต้องเดินผ่านสุมทุมพุ่มไม้ หรือเดินตามคันนาหัวไร่ หรือไปไหนมาไหนตอนกลางค่ำกลางคืนก็ให้ระวัง งูเงี้ยวเขี้ยวขอ มันจะกัดจะต่อยเอา
  • เงาตามตัว หมายถึง ผลของการกระทำที่เกิดตามติดมาทันที หรือผู้ที่ไปไหนไปด้วยกันแทบไม่คลาดกันเลย
  • เหงื่อไหลไคลย้อย หมายถึง เหงื่อ และขี้ไคล เช่น อากาศร้อนมากจนเหงื่อไหลไคลย้อยกันหมดแล้ว หรือออกแรงทำงานหนัก ๆ
  • งมเข็มในมหาสมุทร
    หมายถึง ค้นหาสิ่งที่ยากจะค้นหาได้ ทํากิจที่สําเร็จได้ยาก
  • เงื้อง่าราคาแพง หมายถึง จะทําอะไรก็ไม่กล้าตัดสินใจทําลงไป ดีแต่ทําท่าหรือวางท่าว่าจะทําเท่านั้น
                                                                                  ฯลฯ

   สํานวน สุภาษิตไทย หมวด จ.จาน

จับเสือมือเปล่า

  • จับปลาสองมือ ความหมาย คนที่อยากจะได้สองอย่างทีเดียวพร้อมๆ กัน  โดยไม่คำนึงว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำได้หรือไม่ เปรียบเทียบกับการใช้มือจับปลาตัวเดียวให้มั่นดีกว่าจับด้วยมือเดียวหรือข้างละตัว ซึ่งอาจจะไม่มั่นพอ ทำให้ปลาทั้งสองตัวหลุดตกน้ำไปหมด ไม่ได้อะไรเลย
  • จับเสือมือเปล่า ความหมาย ใช้เปรียบกับการที่ทำงานอะไรสักอย่างโดยไม่ต้องลงทุน หรือไม่มีทุนจะลงเลย ซึ่งอาจจะเป็นผลสำเร็จหรือไม่ก็ตามเรียกว่าเป็นการลองเสี่ยง หรือการลองใช้ความสามารถส่วนตัวทำดู
  • จอดเรือไม่ดูท่า ขี่ม้าไม่ดูทาง  ความหมาย การทำอะไรไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งอาจจะเกิดการผิดพลาดหรือเสียหายได้ เปรียบเทียบกับการจอดเรือหรือขี่ม้า ถ้าไม่ตรวจดูท่าจอดให้แน่นอน หรือไม่ดูหนทางที่จะขี่ม้าไปว่าจะเหมาะหรือไม่ อาจจะเกิดความผิดพลาดเสียหายได้
  • โจรปล้น ๑๐ ครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว ถึงแม้คนเราจะถูกโจรขึ้นปล้นบ้านสัก ๑๐ ครั้ง ก็ยังไม่ทำให้ข้าวของ หรือทรัพย์สินบางอย่างภายในบ้านเราถึงขนาดหมดเกลี้ยงตัวเลยทีเดียวนัก แต่ไฟไหม้ครั้งเดียว เผาผลาญทั้งทรัพย์สิน และที่อยู่เราวอดวายเป็นจุลไปหมดเกลี้ยง
  • จับปูใส่กระด้ง  ความหมาย ปูมักไม่คอยจะอยู่นิ่งเมื่อจับไปวางตรงไหน มันก็พยายามจะไต่ไปไต่มาเพื่อจะหาทางออก หรือคิดหนีไปท่าเดียว เปรียบได้กับคนหรือเด็กเล็ก ๆ ที่ซกซนอยู่ไม่นิ่ง ถึงจะอยู่ในที่บังคับอย่างไรก็จะดิ้นหรือซนเรื่อยไป
  • ใจปลาซิว ความหมาย มีใจไม่อดทน ยอมแพ้อะไรง่ายๆ
ฯลฯ

   สํานวน สุภาษิตไทย หมวด  ฉ.ฉิ่ง

ชี้โพรงให้กระรอก

  • ชักแม่น้ำทั้งห้า ความหมาย การเจรจา หว่านล้อมหรือขอร้องอะไรก็ตามที่จะไม่พูดตรงๆ แต่จะพูดอ้อมๆหว่าน ล้อมก่อนจะเข้าจุดประสงค์
  • ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน นำศัตรูเข้าบ้าน คือ ทำอะไรก็ตามที่เป็นเหตุให้อันตรายมาถึงตัวเอง
  • ชักหน้าไม่ถึงหลัง ความหมาย เงินไม่พอใช้ ค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่พอเพียงกับความต้องการใช้ในชีวิตประจำวัน
  • ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ ความหมาย ตามหลักที่ว่าผู้ชาย จะทำอะไรก็ต้องให้เก่งกล้า หรือองอาจ ไม่อ่อนแอเหมือนผู้หญิง โดยเฉพาะหมายความว่า ขึ้นชื่อว่าผู้ชายแล้วจะต้องเก่งกล้าสามารถทุกคนเปรียบได้กับเสือ เพราะเสือเป็นสัตว์ดุร้ายแต่เก่ง ถือเอาลายของมันเป็นสัญลักษณ์ของความ เก่งกาจ จึงได้ชื่อว่า ชาติเสือต้องไว้ลายชาติชายต้องไว้ชื่อ
  • ชักใบให้เรือเสีย ความหมาย เป็นการพูดหรือทำอะไรให้เป็นที่ขวาง ๆ หรือทำให้เรื่องในวงสนทนาต้องเขวออกนอกเรื่องไป โดยไม่คิดว่าเรื่องที่เขากำลังพูดหรือทำอยู่นั้นจะมีความสำคัญขนาดไหน จึงถือเป็นเรื่องไม่ถูกกาลเทศะ
  • ชิงสุกก่อนห่าม ความหมาย การทำอะไรก็ตาม ที่ข้ามขั้นตอน หรือยังไม่ถึงเวลาก็ชิงทำไปก่อน เช่น เด็กที่อายุไม่ถึงเวลามีแฟน ก็รีบมีก่อนที่จะเป็นสาวเต็มตัว
ฯลฯ

   สํานวน สุภาษิตไทย หมวด ด.เด็ก

ดูช้างให้ดูงา  ดูนางให้ดูแม่

  • ดอกกระดังงาไทย ไม่ลนไฟไม่หอม ความหมาย สิ่งใดก็ตามถ้าปล่อยทิ้งไว้เปล่า ๆ หรือไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็เป็นสิ่งธรรมดา ไม่ดีหรือไม่เลว แต่ถ้าไปทำให้มีเรื่องขึ้น กลับดูเหมือนจะทำให้ดีกว่าเก่า ตามความหมายดังกล่าวนี้  เราจึงมักจะเอามาใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรยว่า  หญิงสาวบางคนที่บริสุทธิ์ นั้นดูเป็นสิ่งธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นจุดเด่น หรือ แปลกตา แต่ถ้าได้แต่งงานกับสามีหรือหย่าร้างกันไปก็เหมือน ดอกกระดังงาไทย ที่นำมาลนไฟด้วยเทียนผึ้งแล้วก็จะมีกลิ่นหอมโชย
  • ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ความหมาย  ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ” ” ดูข้างให้ดูหน้าหนาว ดูสาวให้ดูหน้าร้อน ดังที่ได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว แต่สำนวนที่ว่า ดูช้างให้ดูหาง นี้ มุ่งให้ดูหางช้าง  ที่บอกลักษณะ ว่า เป็นช้างดี หรือ ช้างเผือก เพราะที่ปลายหางของมันยังเหลือให้เห็นสีขาวอยู่ ตามเรื่องที่เล่าว่า  เวลาช้างพังตกลูก เป็นช้างเผือกสีประหลาด พวกช้างพลายและช้างพังจะช่วยกัน ย้อม กลายลูกมันเสีย ด้วยการใช้ใบไม้ หรือ ขี้โคนดำ ๆ พ่นทับ เพื่อมิให้คนรู้ว่า เป็น ช้างเผือกแต่จะมีส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่นั่นก็คือหางของมันนั่นเอง
  • เดินตามหลังราชสีห์ ดีกว่าเดินตามก้นสุนัข  ความหมาย  เป็นสำนวนที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน  หรือ ไม่มีนานมานี้นัก เรืองอำนาจในสมัยนั้น โดยถือคติยอมเป็นสมัคพรรคพวกของผู้มีอำนาจราชศักดิ์  ดีกว่ายอมร่วมวง กับผู้ ที่ปราศจากอำนาจ หรือทรัพย์สินเงินทอง
  • ได้แกง เทน้ำพริก ความหมาย เปรียบเทียบว่า  ได้ใหม่แล้วลืมคนเก่านั่นเอง มักจะใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรย  ผู้ชายเราที่ได้ภรรยาใหม่ก็ทิ้งเก่าไปเลย คำว่า น้ำพริก ”  หรือ  น้ำพริกถ้วยเก่า  เราจะหมายถึงภรรยาเก่าโดยเฉพาะ ก็เหมือนอาหารที่เราทำแล้วไม่มีรสชาติหรือขาดอะไรไปบางอย่างนั่นเอง
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย  หมวด ต.เต่า

เตี้ยอุ้มค่อม

  • ต้นไม้ตายเพราะลูก ความหมาย พ่อแม่ที่ต้องเสียเพราะลูก เช่น  การรักลูกมากจนยอมเสียสละชีวิต หรือทรัพย์สินเพื่อลูก ตามที่ว่า ต้นไม้ตายเพราะลูก โดยที่ว่าต้นไม้บางชนิด เมื่อมีลูก หรือ มีดอกผลมักจะตาย หรือ โคนเพราะคนมาเก็บ หรือเมื่อออกดอกออกผลแล้ว  ก็มักจะแห้งเหี่ยวตายไปตามๆกันเปรียบเหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำ
  • ตกกระไดพลอยโจน ความหมาย เป็นสำนวนที่ หมายความว่า  ติงานที่เขากำลังเริ่มต้นทำใหม่ ยังไม่ทันได้เห็นผลงานของเขา หรือเรียกว่า  มีปากก็ติพล่อย ๆ โดยไม่รู้ว่า  ฝีมือเขาจะเป็นยังไง โกลน สำนวนนี้หมายถึง ซุง ทั้งต้นที่เขาเอามาเกลาหรือถาก ตั้งเป็นรูปขึ้นก่อน เพื่อที่จะต่อเป็นเรือขุด โกลนในชั้นแรก จึงดูไม่ค่อยเป็น รูปร่างดีนัก
  • ตีวัวกระทบคราด ความหมาย เป็นการแสร้งทำหรือแสร้งพูด เพื่อที่จะให้กระทบกระเทือนอีกฝ่ายหนึ่ง การเอา วัวกับคาดมาเปรียบ ก็เพราะ คราดซึ่งใช้เป็นเครื่องมือกวาดลาน ฟาง หรือหญ้าในนานั้นผูกเป็นคันยาว ใช้วัวลากและคราดจะเป็นฝ่ายกระตุ้นให้วัวทำงานลากคราดไป ซึ่งผลงานคงจะอยู่ที่คราด เป็นตังกวาด เมื่อคราดไม่ทำงานก็เลยใช้วิธีตีวัวให้ลากคราด เป็นทำนองว่า ตีวัวกระทบคราด วัวเลยกลายเป็นแพะรับบาป เพราะคราด ความหมายคล้ายกับว่า  เราทำอะไรคนหนึ่งไม่ได้ แต่ไปลงกับอีกฝ่ายหนึ่ง เช่นสัตว์เลี้ยง หรือคนที่ไม่รับรู้อะไรเลย
  • ตัวเป็นขี้ข้า อย่าให้ผ้าเหม็นสาบ ความหมาย  เป็นการสอนให้คนเราประพฤติชอบแต่ในทางที่ดีไม่ให้ประพฤติตนไปในทางเสื่อมเสีย แม้จะมีฐานะยากจนหรือ เป็นตนใช้หรือลูกจ้างเขา ก็ตามแต่ ก็ต้องรักษาความดี ความซื่อสัตว์ รวมทั้งความสะอาดกายด้วย  อย่าปล่อยให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อของความชั่วเป็นต้น
  • ตาบอดได้แว่น ความหมาย เช่น  คนหัวล้านได้หวี นิ้วด้วนได้แหวน มี ความหมายเดียวกัน หมายถึง การที่เราได้ในสิ่งที่มีประโยชน์แก่ตนเองแม้แต่น้อย เพราะคนศรีษะล้าน ย่อมไม่มีผมจะหวี และ คนตาบอดถึงจะใส่แว่นก็มองไม่เห็น เพราะคนตาบอดสัมผัสไม่ได้ถึงแสงสว่าง
  • ตีงูให้หลังหัก ความหมาย  เป็นการ เตือนสติให้เราได้รับรู้ว่า เมื่อคิดจะทำอะไรก็ต้อง ตัดสินใจทำเด็ดขาด หรือจริงจังไปเลย อย่าทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ มิฉะนั้น ผลร้ายจะเกิดขึ้นภายหลังได้ เหมือนกับการที่จะตี หรือ กำจัดงูพิษ เราก็ต้องตีให้ตาย หรือ ให้หลังหักไปเลย ไม่ฉะนั้นมันจะย้อนกลับมาทำร้ายเราทีหลังได้
ฯลฯ

   สํานวน สุภาษิตไทย หมวด ถ.ถุง

ถ่มน้ำลายรดฟ้า

  • ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น   ความหมาย  คนที่ทำอะไรดูเป็นว่ารอบคบถี่ถ้วนดี แต่ความจริงไม่รอบคอบปล่อยให้มีช่องว่างเกิดขึ้น
  • ถ่อไม่ถึงน้ำ น้ำไม่ถึงถ่อ   ความหมาย   การพูดหรือการกระทำอะไร ที่ไม่ปฏิบัติให้ถึงแก่นสำคัญของเรื่อง หรือทำไปครึ่ง ๆ กลาง ๆ หรือขาดตกบกพร่องในการปฏิบัติเช่นขาดเงิน หรือขาดกำลังสนับสนุน สิ่งนั้นก็ย่อมจะไม่สำเร็จ หรือประสบผลตามความต้องการ เมื่อเปรียบกับการถ่อเรือหรือถ่อแพโดยถ่อไม่ถึงน้ำ เพราะถ่อสั้นไป ก็ย่อมใช้งานอะไรไม่ได้
  • ถลำร่องชักง่าย ถลำกายชักยา  ความหมาย  การพลาดถลำตกลงไปในร่องพื้น ยังพอชักเท้าขึ้นมาได้ แต่การถลำใจซึ่งหมายถึงการหลงเชื่อหรือหลงรักหนัก ๆ เข้า ย่อมถอนออกได้ยาก
  • ถ่มน้ำลายรดฟ้า  ความหมาย คนที่คิดร้ายหรือดูหมิ่นบุคคลที่สูงกว่า คำว่า "ถ่มน้ำลาย" เป็นที่เข้าใจกันทั่วไปเกือบทุกชาติแล้วว่า คือการแสดงกิริยาดูถูกดูหมิ่น และมักใช้เป็นกิริยาแสดงออกให้อีกฝ่ายเห็นได้ชัด เรียก "ถ่ม" หรือ "ถุ่ย" แตกต่างกับลักษณะของการ "บ้วนน้ำลาย" เมื่อพูดว่า "ถ่มน้ำลายรดฟ้า"ก็หมายถึง ดูเหมือนบุคคลที่สูงกว่า การถ่มน้ำลายขึ้นไปที่สูงคือฟ้าน้ำลายนั้นก็ย่อมจะตกลงมาถูกหน้าตาของตนเองความหมายจึงอยู่ที่ว่า การดูหมิ่น หรือคิดร้ายต่อบุคคลที่สูงกว่าหรือที่เคารพทั่วไป มักจะกลับเป็นผลร้ายหรือภัยแก่ตนเองได้
  • ถ่มน้ำลายแล้วกลับกลืนกิน  ความหมาย การที่พูดหรือลั่นวาจาออกไปแล้ว เป็นการตัดขาดว่าจะไม่เกี่ยวข้องกันอีก แต่แล้วก็กลับไปเกี่ยวข้องเข้าอีก เป็นทำนองกลับคำของตนเองที่ได้พูดไว้
  • ถ่านไฟเก่า   ความหมาย  โดยเฉพาะสำหรับชายหญิงที่เคยเป็นคู่รักหรือเคยมีสัมพันธ์กันมาก่อนแล้วเลิกร้างกันไป  หรือห่างไประยะหนึ่ง เมื่อกลับมาพบกันใหม่ ก็ทำท่าจะตกลงปลงใจคืนดีกันได้ง่าย เปรียบเหมือนถ่านไฟที่เคยติดแล้วมอดอยู่หรือถ่านดับไปแล้ว แต่พอได้เชื้อไฟใหม่ก็คุติดไฟลุกขึ้นมาได้เร็วกว่าถ่านที่ยังไม่เคยได้เชื้อไฟหลายเท่า
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด ท.ทหาร

ทุบหม้อข้าวตัวเอง
  • ทุบหม้อข้าวตัวเอง  ความหมาย การทำลายอาชีพหรืองานในหน้าที่ หรือผลประโยชน์ที่ตนกำลังได้รับอยู่ เช่นคิดทุจริตต่อนายจ้างของตนเองทำให้นายจ้างจับได้ถูกไล่ออกเรียกว่า "ทุบหม้อข้าว" ของตนเอง เพราะเมื่อหม้อข้าวแตกเสียแล้ว ก็อดกินข้าวหรือบางทีอาจจะไม่มีหม้อหุงข้าวไว้สำหรับหุงเองด้วย
  • เทวดานิมนต์มาเกิด  ความหมาย  สำนวนในชั้นเดิม เข้าใจว่าคงจะหมายไปในทางดีหรือหมายถึง "คนดี" เพราะลงว่าเทวดาหรือสวรรค์ให้มาเกิดแล้ว ก็น่าจะเป็นคนมีบุญ และมีพรสวรรค์ให้เป็นคนเก่งยอดเยี่ยมกว่าคนธรรมดาอย่างแน่นอน แต่ตกมาระยะหลัง กลับมีผู้นำไปใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรย หรือประชดประชันเด็ก ๆ ที่เกกมะเหรกเกเรหรือซนเก่งเป็นยอดเยี่ยม ว่าเป็นเด็กที่ "เทวดานิมนต์มาเกิด" ไปเสีย
  • ทำนาบนหลังคน   ความหมาย  คนที่คิดหาผลกำไรหรือหาผลประโยชน์ใส่ตน ด้วยวิธีเบียดเบียนหรือรีดนาทาเร้นเอาจากน้ำพักน้ำแรงของผู้อื่น โดยขาดความเมตตา เช่น ให้กู้เงินแล้วเรียกดอกเบี้ยแพง ๆ หรือกว้านซื้อข้าวจากชาวนาในราคาถูก ๆ เพื่อเอามาค้าหากำไรโดยเหตุที่การทำนาของคนไทยในสมัยโบราณจัดว่า เป็นอาชีพหลักและสำคัญส่วนใหญ่โบราณจึงเอาเรื่อง "ทำนา" มาผูกเป็นสำนวนความหมายทำนองเดียวกับ "รีดเลือดกับปู" ก็ได้
  • เทศน์ตามเนื้อผ้า ความหมาย   จะพูดหรือสั่งสอนใครก็พูดเรื่อยไปตามตำราหรือแบบแผน ไม่มีการดัดแปลงให้เข้ากับคนฟังหรือให้เหมาะสมกับกาลเทศะจึงย่อมจะมีผู้ฟังบางคนไม่เข้าใจก็ได้
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด  น.หนู

น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า
  • น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง   ความหมาย คนที่พูดมาก แต่ถ้อยคำที่พูดนั้นได้เนื้อความน้อยหรือมีสาระเพียงนิดเดียว สำนวนนี้เรามักใช้พูดสั้น ๆ ว่า "น้ำท่วมทุ่ง" หรือ "พูดเป็นน้ำท่วมทุ่ง" เสียส่วนมาก แต่ก็เป็นความหมายชัดเจนอย่างว่าดี
  • น้ำนิ่งไหลลึก  ความหมาย คนที่ดูภายนอกสงบเสงี่ยมหรือเป็นคนหงิม ๆ ไม่ค่อยพูดจา แต่มักจะเป็นคนมีความคิดฉลาด หรือทำอะไรได้แคล่วคล่องว่องไว เปรียบเหมือนน้ำที่ดูตอนผิวหนังที่สงบนิ่ง แต่ลึกลงไปข้างใต้นั้นกลับไหลแรง
  • น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ  ความหมาย  เปรียบได้กับอะไร ๆ ที่น้อยกว่าย่อมแพ้แก่ฝ่ายที่มากกว่า เช่นน้ำน้อยก็ไม่พอจะดับไฟ หรือพวกที่มีกำลังน้อยกว่า ก็ย่อมแพ้พวกที่มีกำลังมากกว่า
  • น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า  ความหมาย  คนเราต้องต่างพึ่งพากันและกันตลอดมา
  • น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย   ความหมาย  น้ำร้อนหมายถึงคนที่ปากร้ายแต่จิตใจไม่ร้ายย่อมไม่เป็นพิษภัย ส่วนน้ำเย็นหมายถึงคนปากหวานหลอกให้คนหลงเชื่อง่าย ๆ ย่อมมีอันตรายได้
  • น้ำลึกหยั่งได้ น้ำใจหยั่งยาก  ความหมาย  น้ำลึกแค่ไหนเรายังวัดหยั่งได้ แต่น้ำใจหรือจิตใจของคนเราวัดได้ยาก
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด บ.ใบไม้

บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น
  • บวชก่อนเบียด  ความหมาย บวชเป็นพระเสียก่อน เมื่อสึกออกมาแล้วจึงค่อยแต่งงานหรือหาภรรยา คำว่า "เบียด" ในที่นี้ แปลว่ามีภรรยา ถ้า "เบียดก่อนบวช" ก็หมายความว่า มีเมียก่อนบวช 
  • บ่างช่างยุ  ความหมาย คนที่ชอบยุแหย่ สำนวนนี้ เอามาจากเรื่องนิทานสอนเด็ก ที่สมมุติให้ตัวบ่างสัตว์ชนิดหนึ่งเป็นตัวบ่างช่างยุแหย่ในเรื่อง
  • เบี้ยล่าง เบี้ยบน  ความหมาย  สำนวนนี้เปรียบเทียบเอาว่า "เบี้ยบน" คือฝ่ายที่กำชัยชนะ หรือมีอำนาจอยู่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเปรียบเหมือน "เบี้ยล่าง" เรียกว่า เบี้ยบนเป็นต่อกว่าเบี้ยล่าง หรือเบี้ยล่างเป็นรองเบี้ยบน สำนวนนี้มาจากการเล่นหรือการพนันทั่วไป
  • บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น  ความหมาย จะทำอะไรก็ค่อย ๆ พูดจากัน อย่าให้มีเรื่องมีราวเดือดร้อนเกิดขึ้นกีบอีกฝ่ายหนึ่ง
  • บุญมา ปัญญาก็ช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก  ความหมาย สำนวนนี้ เป็นสุภาษิตคำพังเพยของท่านเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรง มีความหมายอธิบายอยู่ในตัวประโยคแล้ว และมีสำนวนต่อท้ายในลักษณะตรงข้ามอีกด้วย "บุญไม่มา ปัญญาไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย"
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย  หมวด ป.ปลา

ปลาติดหลังแห
  • ปลาใหญ่กินปลาเล็ก  ความหมาย คนที่มีอำนาจราชศักดิ์หรือเป็นใหญ่เป็นโตก็ย่อมข่มคนที่เป็นผู้น้อยกว่าได้หรือจะเปรียบเอาว่า คนที่มีกำลังน้อยกว่าก็ย่อมมีภาษีเหนือกว่าคนที่อ่อนแอได้ ตามหลักธรรมดาทั่วไปที่ว่า "ปลาใหญ่กินปลาเล็ก" และ "ปลาเล็กตอนปลาน้อย" กินกันเป็นทอด ๆ ไป
  • ปลาข้องเดียวกัน ตัวหนึ่งเน่า ก็พลอยพาให้เหม็นไปด้วย   ความหมาย คนที่อยู่ร่วมกัน ถ้าคนใดคนหนึ่งทำมิดี หรือทำชั่วก็พลอยให้คนอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกันเสียไปด้วย
  • ปลาตกน้ำตัวโต  ความหมาย  การทำสิ่งใดที่เสียหรือสูญหายไปเพียงเล็กน้อย แต่พลอยเพิ่มเติมว่า ของที่สูญไปนั้นมีราคมากกว่าความจริง เป็นการเอาปลาที่ตกน้ำ แล้วว่ายหายไป มาเปรียบเทียบเพราะไม่มีใครเห็นขนาดแท้จริงของปลา
  • ปลาติดหลังแห  ความหมาย  สำนวนนี้บางทีก็พูดว่า "ปลาติดร่างแห" แต่ที่ถูกต้องเป็น "ปลาติดหลังแห" เพราะมีความหมายว่า คนที่ต้องพลอยมีส่วนเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้อง หรือรับเคราะห์ร่วมกับคนอื่น ๆ ด้วยโดยที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่นิด เช่น พลอยถูกจับร่วมไปกับวงการพนัน โดยที่ตนไม่ได้ร่วมวงเล่น แต่บังเอิญผ่านเข้าไปทางนั้น คำว่า "ติดหลังแห"หมายถึงปลาที่คอยติดอยู่นอกแหขึ้นมาเวลาสาวแหขึ้นจากน้ำ
  • ปลาหมอตายเพราะปาก  ความหมาย  คนที่ชอบพูดพล่อย ๆ รู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือพูดแสดงความอวดดี จนตัวเองต้องรับเคราะห์ก็เพราะปากของตนเอง สำนวนนี้มาจากปลาหมอที่อยู่ในลำน้ำ มักชอบผุดขึ้นฮุบเหยื่อหรือน้ำบ่อย ๆ จนเป็นที่สังเกตของนักจับปลาได้ว่า ปลาหมออยู่ตรงไหน ก็เอาเบ็ดล่อลงไปตรงนั้นไม่ค่อยพลาด จึงเรียกว่า ปลาหมอตายเพราะปาก
  • ปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงน้ำ  ความหมาย  มีความหมายอย่างเดียวกันทั้งสองประโยคที่ว่า การปล่อยให้บุคคลสำคัญ หรือศัตรูที่เราจับได้กลับไปสู่แหล่งเดิมของมัน เพราะเสือย่อมอยู่ในป่า และปลาอยู่ในน้ำ เมื่อมันกลับสู่รังธรรมชาติของมันแล้ว กำลังวังชาของมันก็ย่อมมีขึ้นอย่างเดิม มันอาจจะเป็นเหตุให้ศัตรูกลับมาคิดแก้แค้นเราได้ภายหลัง
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย  หมวด ผ.ผึ้ง

  • ผงเข้าตาตนเอง  ความหมาย  โดยหลักธรรมดาที่ว่า ผงเข้าตาผู้อื่น เขาวานให้เราเขี่ยผงออก เราย่อมจะทำได้ แต่ถึงคราวที่ผงเข้าตาเราเองเข้าบ้าง เราย่อมไม่มีปัญญาเขี่ยออกได้แน่ ก็ต้องวานคนอื่นเขาเขี่ยบ้างเปรียบได้ว่า ปัญหาของคนอื่นเราแก้ให้เขาได้แต่ถึงคราวเราเกิดมีปัญหาลับคับอกขึ้นมาบ้าง เราเองกลับแก้ไม่ตก 
  • แผ่นดินไม่ไร้เท่าใบพุทรา  ความหมาย แผ่นดินนี้ไม่ใช่จะมีแต่ผู้หญิงหรือผู้ชายคนเดียวเท่านั้นเป็นเชิงสอนมิให้คนเราคิดลุ่มหลงรักใคร่จนเกินไปนัก

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด ฝ.ฝา

ฝนทั่งให้เป็นเข็ม
  • ฝนทั่งให้เป็นเข็ม  ความหมาย  การทำอะไรก็ตามแต่ จะต้องพยายามให้เต็มกำลังความสามารถของตนเอง หรือทำให้สำเร็จลงได้
  • ฝากเนื้อไว้กับเสือ  ความหมาย ไว้เนื้อเชื่อใจโดยฝากสิ่งใดไว้กับผู้ที่ชอบสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ย่อมจะสูญได้เช่นฝากสาวงามไว้กับผู้ชายเจ้าชู้ เจ้าชู้ผู้นั้นหรือจะอดได้
  • ฝนตกอย่าเชื่อดาว  มีเมียสาวอย่าไว้ใจแม่ยาย  ความหมาย อย่าไว้ใจอะไรที่เดียวจนเกินไปนัก เปรียบกับที่ว่า เห็นดาวอยู่เต็มท้องฟ้า ไม่มีท่าว่าฝนจะตกลงมาเลย แต่ฝนก็อาจจะตกลงมาได้ ส่วนที่ว่า "มีเมียสาวอย่าไว้ใจแม่ยาย" นั้นคงเข้าทำนองที่ว่า แม่ยายที่มีลูกสาวสวยนั้นก็อย่าเพิ่งไปไว้ใจว่า แม่ยายจะไม่คิดพรากลูกสาว หรือเมียสาวของเราไปให้กลับผู้ชายที่มีฐานะดีกว่า เพราะอาจมีแม่ยายบางคนที่เห็นแก่เงินก็ได้
ฯลฯ


   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด พ.พาน

พบไม้งามเมื่อขวานบิ่น
  • พกหินดีกว่าพกนุ่น  ความหมาย  คำว่า "พกหิน" หมายถึง ใจคอหนักแน่น เปรียบเหมือนเอาหินหนัก ๆ มาไว้กลับตัว ส่วน "พกนุ่น" หมายถึง ใจเบา หรือหูเบาเอนเอียงง่าย เพราะนุ่นเป็นของเบา สำนวนนี้จึงหมายถึง ทำใจคอให้หนักแน่นไว้ดีกว่าหูเบาหรือใจเบา หลงเชื่อคำของคนอื่น
  • พบไม้งามเมื่อขวานบิ่น  ความหมาย  สำนวนนี้ ใช้เป็นความหมายโดยเฉพาะกับผู้ชายเราที่บังเอิญมาพบผู้หญิงสวยงาม ถูกใจอย่างแท้จริงคนหนึ่งเข้า แต่ก็เป็นการสายเสียแล้ว เพราะวัยของคนชราภาพหรือมีครอบครัวเต็มทีแล้ว ก็เท่ากับว่า สังขารของตนไม่อำนวย เพราะ "ขวาน" ที่จะใช้การก็มามีอัน "บิ่น" ตัดไม้หรือตัดอะไรไม่ได้เสียแล้ว
  • พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ  ความหมาย การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขจากของเดิมให้มันผิดแผกแตกต่างออกไปทั้งหมด หรือคิดว่าจะทำอย่างนี้ แต่กลับเปลี่ยนแปลงไปทำอีกอย่างในลักษณะตรงกันข้าม เปรียบได้กับ หลังมือและหน้ามือ
  • พิมเสนแลกกับเกลือ  ความหมาย ยอมลดตัวเองไปทำในสิ่งที่ต่ำกว่า หรือไม่คู่ควรกัน ความหมายของ "พิมเสน"ย่อมมีราคากว่า "เกลือ" การทำตนเองให้มีราคาตัวของตนตกต่ำลงไปก็เท่ากับว่า เอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ
  • พุ่งหอกเข้ารก  ความหมาย  ทำอะไรที่สักแต่ว่าทำลงไปให้แล้วเสร็จ โดยไม่คิดคำนึงถึงผลเสียหรือผลที่จะได้รับเป็นอย่างไร เปรียบได้กับการพุ่งหอกเข้าไปในที่รก โดยไม่รู้ว่า หอกนั้นจะไปตกต้องโดนอะไรเข้าไปเป็นผลเสียหายบ้าง เพราะในที่รกย่อมมองไม่เห็นว่ามีอะไร
  • เพชรตัดเพชร  ความหมาย  คนที่มีความสามารถดีกับคนที่มีความสามารถพอ ๆ กัน มาพบกันเข้าต่างฝ่ายย่อมจะทำอะไรกันไม่ได้ เพราะเท่ากับเก่งด้วยกัน เหมือนเพชรคม ๆ ด้วยกัน
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด ฟ.ฟัน

  • ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ  ความหมาย  เป็นสำนวนเปรียบเทียบให้คนเรารู้จักกาละเทศะ รู้ที่สูงที่ต่ำ หรือรู้ว่าสิ่งใดเหมาะสิ่งใดควรแก่ฐานะของตนเอง ไม่ตีตนเสมอไปหมด
  • ฟื้นฝอยหาตะเข็บ  ความหมาย การรื้อเอาเรื่องเก่า ๆ ที่แล้วไปแล้ว มาพูดขึ้นให้เป็นที่สะเทือนใจ และอาจทำให้มีเรื่องมีราวเกิดขึ้นอีกทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นสงบไปนานแล้ว
  • ฟังหูไว้หู  ความหมาย การรับฟังคำพูดหรือเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ แต่เพียงรับฟังเท่านั้น อย่าเพิ่งเชื่อไปเสียหมดแปลตามสำนวนก็ว่า ฟังด้วยหูข้างเดียว อีกหูปิดไว้อย่าฟัง หรืออย่าเปิดทั้งสองหูฟังหมด
  • ฟังไม่ได้ศัพท์  จับเอามากระเดียด  ความหมาย  ได้ยินหรือได้ฟังมาไม่ถนัดชัดเจน ก็นำเอามาพูดบอกผิด ๆ ถูก ๆ หรือมาใช้ผิด ๆ พลาด ๆ

   สำนวน สุภาษิตไทย  หมวด ม.ม้า

ไม่ซีกงัดไม้ซุง
  • ไม่ได้ด้วยเลห์เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ เอาด้วยคาถา  ความหมาย  ทำด้วยวิธีหนึ่งไม่สำเร็จ ก็พยายามจะทำอีกวิธีหนึ่ง หรือหาวิธีอื่น ๆ ที่คิดว่าจะทำให้ได้มาทำ เป็นความหมายในทำนองที่ว่า เป็นการใช้อุบายเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้ได้
  • ไม่พ้นชวด ฉลู ขาล เถาะ  ความหมาย  "ไปไม่รอด"หรือไปไม่ได้ตลอด หรือไปให้ไกลแสนไกลแค่ไหนก็จะต้องหมุนเวียนกลับมาอีก เปรียบเหมือนปี ๑๒ นักกษัตร ที่หมุนเวียนอยู่เรื่อยไปภายใน ชวด ฉลู ถึง กุล สำนวนนี้มักใช้ประชดคนที่ทำใจแข็งโดยไม่สมเหตุผล
  • ไม่มีมูลฝอยหมาไม่ขี้  ความหมาย  อะไรก็ตามที่เกิดขึ้น มักจะต้องมีเหตุหรือมีเค้ามูลมาก่อน ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ
  • ไม่รู้จักเสือ เอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาแหย่  ความหมาย  ทั้งสองสำนวนนี้ แปลว่า การทำอะไรที่แสดงความเซ่อเขลาของตนโดยไม่พิจารณาเสียก่อนมักมุ่งหมายไปในทำนองที่ว่า ไปต่อสู้หรือแข่งขันกับคนที่เขาชำนาญกว่าหรือเก่งกว่า โดยไม่รู้ว่าเป็นใคร เช่นหลงไปเล่นการพนันกับนักพนันที่เก่งและชำนาญเข้าโดยไม่รู้จัก เปรียบได้กับเอาเรือเข้าไปจอดในป่าที่มีเสือดุ ๆ หรือเอาไม้เข้าไปแหย่ให้มอดกัดกินเล่นสบาย
  • ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้  ความหมาย   การด่วนทำอะไรล่วงหน้าไปก่อน โดยที่ยังไม่รู้ว่า การณ์ข้างหน้าจะมีหวังแน่นอนหรือเปล่า เพราะไม่มีเค้าว่าจะปรากฏภายหน้าให้เห็นเลยเรียกว่า เป็นการคาดคะเนล่วงหน้าไว้ก่อน แล้วก็รีบจัดเตรียมไว้ โดยถ้าหากผิดคาดไปก็เสียเปล่า
  • ไม้ซีกงัดไม้ซุง  ความหมาย  คนผู้น้อยหรือผู้มีฐานะต่ำไปคัดค้าน หรือไปก่อความกับผู้มีอำนาจสูงกว่า หรือมีฐานะดีกว่า ก็ย่อมจะเป็นผู้แพ้หรือทำไม่สำเร็จ มีแต่จะได้รับอันตรายอีกด้วย เพราะไม้ซีกเล็กกว่าไม้ซุง เมื่อเอาไปงัดไม้ซุงจะให้พลิกขึ้น ก็รังแต่ไม้ซีกจะหักเปล่า
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด ย.ยักษ์

ยื่นแก้วให้วานร
  • ย้อมแมวขาย  ความหมาย  เอาของไม่ดีมาตบแต่งเสียใหม่ แล้วเอามาหลอกลวงว่าของดี มูลของสำนวนคงมาจากการนิยมเลี้ยงแมวของคนไทยในสมัยก่อนที่มักตกแต่งแมวเลี้ยงของตนเอง ด้วยสีของขมิ้นบ้าง ปูนบ้าง ทำให้เป็นสีต่าง ๆ ก็ได้
  • ยื่นแก้วให้วานร  ความหมาย เอาของมีค่าหรือของดีไปให้กับคนที่ไม่รู้จักค่าของของนั้น ทำให้เปล่าประโยชน์ความหมายอย่างเดียวกับ "ไก่กับพลอย"
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด ร.เรือ

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี
  • รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี  ความหมาย  ถ้ารักวัวก็ให้ผูกล่ามขังไว้ มิฉะนั้นวัวจะถูกลักพาหรือหนีหายไปส่วนรักลูกให้เฆี่ยน ก็หมายถึงให้อบรมสั่งสอนลูกและทำโทษลูกเมื่อผิด
  • รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา  ความหมาย  การทำตัวดี ประพฤติดี มีความรู้ดี ก็ได้งานอาชีพเบาหรืองานสูง ถ้าทำตัวไม่ดี หรือขาดความรู้วิชาก็ต้องทำงานหนัก จำพวกแบกหามหรืองานต่ำ
  • รักพี่เสียดายน้อง  ความหมาย  การลังเลใจ ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกอย่างไหนดี เพราะถูกใจทั้งสองอย่าง สำนวนนี้ มักใช้เปรียบเปรยถึงความรักของผู้ชายเราที่เกิดไปรักผู้หญิงคราวเดียวกันไว้ถึงสองคน หรือผู้หญิงนั้นเป็นพี่น้องด้วยกัน
  • รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ  ความหมาย การทำอะไรก็ตามแต่ ควรทำให้พอดี อย่าให้มากเกินไป ถ้าเห็นว่าจะเกินไปทำให้เป็นที่กระทบกระเทือนต่อผู้อื่น ก็ระงับยับยั้งไปเสียหรือจะทำอะไรที่เรียกว่าง่าย ๆ สั้น ๆ เกินไปก็อย่าด่วนทำควรค่อยคิดค่อยทำต่อไปให้เหมาะสม
  • ราชสีห์สองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้  ความหมาย  คนสองคนที่ต่างก็มีอำนาจ หรืออิทธิพลยิ่งใหญ่เท่ากัน ย่อมจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายก็ต่างจะแข่งรัศมีกันด้วย
  • รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง  ความหมาย  ตนเองทำไม่ถูกไม่ดี แต่กลับไปซัดโทษเอาผู้ร่วมงานหรือผู้อื่น
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด ล.ลิง

ลูกไก่ในกำมือ
  • ลางเนื้อชอบลางยา  ความหมาย แต่ละคนต่างมีรสนิยมแตกต่างกัน หรือไม่ตรงกัน เป็นสำนวนที่ได้มาจากการใช้ยารักษาโรค ที่ว่ายาขนานเดียวกันรักษาคนหนึ่งหายแต่อีกคนหนึ่งไม่หาย ทั้ง ๆ ที่เป็นโรคเดียวกัน แปลว่ายาถูกโรคกับคนหนึ่ง แต่ไม่ถูกโรคกับอีกคนหนึ่ง
  • ลิงหลอกเจ้า  ความหมาย  คนที่ต่อหน้าผู้ใหญ่ก็ทำตัวเรียบร้อย แต่ลับหลังซนเป็นลิงเป็นค่าง
  • ลูกไก่ในกำมือ  ความหมาย  อยู่ในอำนาจเหนือกว่าจะทำอย่างไรก็ได้ จะให้ตายหรือให้รอดก็ได้ ตามสำนวนเดิมว่า "ลูกไก่อยู่ในกำมือ จะบีบก็ตาย จะคายก็รอด"
  • เล่นกับหมาหมาเลียปาก เล่นกับสากสากต่อยหัว  ความหมาย  การลดตัวเองลงไปเล่นหัวคลุกคลีกับคนที่ต่ำกว่าหรือเด็กที่มีอายุน้อยกว่ามาก คนผู้นั้นหรือเด็กนั้นก็อาจจะเลียตีเสมอลามปามเข้าให้ สำนวนที่ว่า "เล่นกับหมาหมาเลียปาก" นั้นมีประสบการณ์ให้เห็นอยู่บ่อย ๆ เพราะธรรมชาติของหมาเป็นเช่นนั้น
  •  เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง  ความหมาย ผู้ที่ทำหน้าที่อะไรก็ตามแต่แล้วพลอยได้มีส่วนผลประโยชน์จากหน้าที่ที่ตนทำอยู่นั้น โดยไม่บริสุทธิ์นัก หรือไปในทำนองที่ไม่ชอบธรรม สำนวนนี้มาจากสมัยโบราณ ซึ่งคงจะเป็นที่พบเห็นกันว่า คนเลี้ยงช้างของหลวงในสมัยนั้น คงมีผลประโยชน์พลอยได้จากค่าเลี้ยงดูช้างอยู่บ้างก็ได้ แต่คงไม่มากนัก
  • เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้  ความหมาย  สำนวนนี้ มุ่งหมายโดยเฉพาะกับผู้ที่เลี้ยงลูกของตน หรือเลี้ยงเด็กที่เป็นลูกบุญธรรมก็ตาม ถ้าเด็กนั้นมีสันดานชั่วร้าย เมื่อโตขึ้นก็ย่อมก่อความเดือดร้อนลำบาก ให้แก่ตนเองเปรียบได้กับการเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ เมื่อยังตัวเล็กอยู่ยังไม่เป็นภัย แต่โตขึ้นก็อาจทำความเดือดให้แก่ผู้เลี้ยงได้เป็นส่วนมาก
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด ว.แหวน

วัวสันหลังขาด
  • วัวแก่กินหญ้าอ่อน  ความหมาย ชายแก่ที่มีภรรยาสาวคราวลูกคราวหลาน มักใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรยชายที่ว่านี้วัวเคยขา ม้าเคยขี่  ความหมาย  ชายหญิงที่เคยมีสัมพันธ์กันมา ย่อมรู้จิตใจกันดีอยู่แล้ว
  • วัวไม่กินหญ้าอย่าขมเขา  ความหมาย  อย่าบังคับหรืออย่าฝืนให้เขาทำอะไรในสิ่งที่เขาไม่สมัคใจ
  • วัวสันหลังขาด  ความหมาย  สำนวนนี้ ยังมีต่อสร้อยด้วยว่า "วัวสันหลังขาด เห็นกาบินผาดก็ตกใจ" มีความหมายถึงคนที่มีอะไรพิรุธหรือมีการกระทำไปแล้ว ในทำนองไม่สู่ดี มักมีอาการคอยหวาดระแวงอยู่เสมอ กลัวว่าจะมีคนรู้เห็นหรือมารื้อฟื้นกล่าวโทษขึ้น สำนวนนี้บางทีก็พูดว่า "วัวสันหลังหวะ" ซึ่งแปลตามสำนวนก็ว่า วัวสันหลังเป็นแผลหวะ หรือมีบาดแผลที่หลัง กาจะบินมาจิกแผลตนเอง
  • วัวหายล้อมคอก  ความหมาย เมื่อเกิดเรื่องเกิดราวถึงขั้นเสียหายขึ้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาคิดแก้ภายหลัง หรือไม่คิดหาทางป้องกันไว้แต่แรก ได้คิดก็ต่อเมื่อเกิดการเสียหายขึ้นแล้ว
  • วัวลืมตีน  ความหมาย  สำนวนนี้ ใช้เป็นความหมายเปรียบเทียบถึงคนที่ไม่เจียมตัว หรือมีศักดิ์ต่ำแต่คิดเห่อเหิมจะทำตัวให้เทียมหน้าเขา
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย หมวด ส.เสือ

สร้างวิมานในอากาศ
  • สอนจระเข้ว่ายน้ำ  ความหมาย  การชี้ทางหรือสอนให้คนที่เป็นอยู่แล้วให้เก่งหรือชำนาญขึ้นไปอีก แต่มักมุ่งหมายโดยเฉพาะถึงการสอน หรือแนะนำคนชั่วประพฤติไม่ดีส่วนมาก
  • สอนหนังสือสังฆราช  ความหมาย  สำนวนนี้ แตกต่างกับการสอนจระเข้ให้ว่ายน้ำ เพราะหมายถึงการสอนผู้ที่มีความรู้ดีเป็นเยี่ยมอยู่แล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าคนผู้นั้นรู้หรือชำนาญดีกว่าตนเสียอีก ความหมายใกล้เคียงกับสำนวนที่ว่า "เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน"
  • สัญชาติสุนัข อดขี้ไม่ได้  ความหมาย  สำนวนนี้ ใช้เป็นคำเปรียบเปรยถึงคนที่ประพฤติชั่ว ถึงจะเอามาอบรมเลี้ยงดูดีอย่างไร ก็อดประพฤติเช่นเดิมไม่ได้ เปรียบได้กับสุนัขส่วนมากซึ่งชอบกินขี้อยู่เสมอ แต่สมัยนี้เราไม่ค่อยจะได้เห็นดังว่า ก็เพราะส้วมถ่ายอุจาระของเราสมัยนี้มิดชิดไม่ค่อยเรี่ยราดเหมือนสมัยก่อน
  • สมภารกินไก่วัด  ความหมาย  เป็นสำนวนเปรียบเทียบที่มุ่งหมายโดยเฉพาะ ถึงผู้ชายที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ปกครองดูแลหญิงสาวหลาย ๆ คนภายในบ้านหรือภายในวงงาน แล้วก็ถือโอกาสเกี้ยวพาเอาหญิงสาวเหล่านั้น มาเป็นเครื่องเล่นของตนเสียโดยไม่เหมาะสม อีกทางหนึ่งอาจหมายถึงผู้มีอำนาจในการปกครอง ซึ่งชอบหาเศษหาเลยจากการ "คอรัปชั่น" ในหน้าที่ของตนเองก็ได้
  • สร้างวิมานในอากาศ  ความหมาย การสร้างความฝันว่าตนเองจะต้องได้เป็นใหญ่หรือ มีเงินทองมั่งมีขึ้นแล้วจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้สมกับที่มีเงิน โดยที่ความใฝ่ฝันนั้นยังไม่แน่ว่าจะได้รับสมจริงหรือเปล่า
  • สาดน้ำรดกัน  ความหมาย  การทะเลาะทุ่มเถียงด่าทอโต้ตอบกันไปมา ยังไม่ถึงขั้นที่ลงมือใช้อาวุธซึ่งเท่ากับว่า เอาน้ำมาสาดรดกันให้ต่างคนต่างเปียกด้วยกันทั้งสองข้าง
ฯลฯ

   สำนวน  สุภาษิตไทย หมวด ห.หีบ

หมาเห็นข้าวเปลือก
  • หมากัดอย่ากัดหมา  ความหมาย คนชั่ว คนชั้นต่ำ หรือพวกอันธพาลคิดร้ายหรือประทุษร้ายเราอย่างใดอย่าทำตอบ แต่ควรหลีกเลี่ยงไปเสีย
  • หมาเห่าใบตองแห้ง  ความหมาย คนที่ชอบเอะอะโวยวายเป็นที่อวดตัวว่า ตนเก่งกล้า แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นคนขี้ขลาด ไม่กล้าเผชิญกับศัตรู เปรียบได้กับใบตองแห้งที่ติดกับต้นกล้วย เวลาลมพัดมามีเสียงดังแกรกกรากหมาได้ยินเข้าหน่อยก็มักจะเห่าส่งเดช
  • หมาเห่าไม่กัด  ความหมาย  มีความหมายอย่างเดียวกับ "หมาเห่าใบตองแห้ง" ตามที่สังเกตเอาว่า หมาที่เห่าเก่ง ๆ นั้นมักจะไม่กัด และหมาที่ชอบกัดนั้นมักไม่เห่าง่าย
  • หมาเห็นข้าวเปลือก  ความหมาย  การได้เห็นแล้วอยากได้แต่ไม่มีทางที่จะได้ หรือเป็นประโยชน์แก่ตนเองจะโดยฐานะต่ำต้อยหรืออะไรก็ตาม สำนวนที่เอา "หมา" มาเปรียบนี้มีมาก แต่มักหมายไปในทางไม่ดี เช่น หมาหัวเน่า, หมาสองราง ฯลฯ
  • หมูจะหาม เอาคานเข้ามาสอด  ความหมาย การที่เข้าไปขัดขวางผลประโยชน์ หรือกิจการของคนอื่นที่เขากำลังจะสำเร็จอยู่แล้ว สำนวนนี้มีต่อท้ายด้วยว่า "ผัวเมียเขาจะกอดเข้าไปข้างกลาง"  มีความหมายอย่างเดียวกัน
  • หวานนอกขมใน  ความหมาย การใช้คำพูดหรือแสดงกิริยาให้อีกฝ่ายเห็นว่า ดีต่อ แต่แท้จริงภายในจิตใจกลับตรงกันข้ามกับกิริยาและวาจา
ฯลฯ

   สำนวน สุภาษิตไทย  หมวด อ.อ่าง

อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย  ปั่นวัวปั่นควายให้ลูกท่านเล่น


  • อดเปรี้ยวกินหวาน  ความหมาย ให้ละทิ้งสิ่งที่ไม่ดีนั้นเสีย เพื่อรับเอาสิ่งที่ดีเข้าไว้ ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาอดใจรออยู่นาน ก็ยังดีกว่า เพราะผลที่จะได้รับข้างหน้านั้น ย่อมดีกว่า
  • อยู่บ้านท่านอย่านิ่งดูดาย ปั้นวัวปั้นควายให้ลูกท่านเล่น  ความหมาย  สำนวนนี้มีความหมายอธิบายอยู่แล้ว คือเมื่ออาศัยอยู่บ้านใคร ก็อย่าอยู่เปล่า ควรช่วยทำงานทำการให้เป็นประโยชน์ต่อเขาบ้าง เพียงแค่เอาดินมาปั้นเป็นตุ๊กตาให้เด็ก ๆ ลูกหลานในบ้านท่านเล่นก็ยังดี แต่ประโยคนี้ เป็นการเปรียบเทียบให้เห็นว่า เพียงแต่ช่วยดูแลเด็กเล็กในบ้านให้แก่ท่านผู้นั้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์ดีกว่าอยู่เปล่า ๆ
  • อ้อยเข้าปากช้าง  ความหมาย  สิ่งที่หลุดลอยไปเป็นของคนอื่นแล้ว ก็ย่อมจะสูญหรือไม่มีทางจะได้คืนมาง่าย ๆ มักหมายถึงการที่เสียรู้หรือเสียประโยชน์ไปโดยถูกช่วงชิง หรือโดยความผิดพลาดอย่างหนึ่งอย่างใดแล้ว อย่าหวังจะได้กลับคืนมาทีเดียวนักเปรียบเหมือนอ้อยซึ่งเป็นอาหารโปรดของช้าง เมื่อตกเข้าไปอยู่ในปากช้างแล้ว "ยากที่จะง้างออกมาได้"
  • อัฐยายซื้อขนมยาย  ความหมาย  การได้รับประโยชน์หรือได้รับทรัพย์จากผู้ใดผู้หนึ่ง แล้วเอาทรัพย์นั้นมาใช้กับผู้นั้นต่อ เข้าทำนองที่ว่า เอาเงินจากผู้นั้นมาแล้ว กลับเอาเงินนั้นไปซื้อของมีค่าจากผู้นั้นอีกโดยที่เราไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่คนนั้นกลับเป็นฝ่ายต้องเข้าเนื้อ ตามความหมายตรงตัวของสำนวนอยู่แล้ว
  • เอาจมูกคนอื่นมาหายใจ  ความหมาย  สำนวนนี้ บางทีก็ว่า "ยืมจมูกคนอื่นเขามาหายใจ" มีความหมายไปในทำนองที่ว่า อาศัยความคิดหรือแรงของคนอื่นมาทำงานให้ตน โดยไม่คิดว่าจะได้รับผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับที่ตนเองทำหรือไม่ และมักจะไม่ได้ผลดังที่ตนต้องการทีเดียวนัก
  • เอาใจเขามาใส่ใจเรา  ความหมาย  สำนวนนี้ มุ่งให้คำนึงว่า ควรจะมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน หรือนึกถึงอกเขาอกเราบ้าง ว่าตัวเราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเขาทำอย่างนั้นกับเรา
ฯลฯ





4 ความคิดเห็น:

  1. ้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้้

    ตอบลบ